ความเป็นมาหรือหลักการเหตุผล

มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ของล้านนาที่สำคัญด้านหนึ่ง คือสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างด้านที่อยู่อาศัยประเภทคุ้มเจ้านายและบ้านคหบดี ที่บ่งบอกถึงพัฒนาการทุกด้านของยุคสมัยที่ก่อสร้างแสดงถึงการปกครอง การเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีผลมาจากอิทธิพลความเชื่อ และวัฒนธรรมของล้านนาที่สมควรได้รับการอนุรักษ์และคุ้มครองรักษามรดกทางวัฒนธรรมอย่างถูกวิธีให้สามารถสืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง อย่างมีคุณค่าตามแบบอย่างกระบวนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสากลให้สืบเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาปัตยกรรมของที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในล้านนาบนอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมตะวันตก ส่งผลให้เกิดการผสมผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมขึ้น อาคารคุ้มเก่าและบ้านคหบดีในล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ถูกก่อสร้างผสานภูมิปัญญาล้านนาเดิมกับสถาปัตยกรรมก่อสร้างแบบตะวันตกยังคงมีอยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นการรวบรวมนำองค์ความรู้ด้านต่างๆ ทางสถาปัตยกรรม อาทิ การอนุรักษ์ การสำรวจรังวัด การก่อสร้างและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างพื้นถิ่น หรือแม้แต่องค์ประกอบและลวดลายตกแต่งในงานสถาปัตยกรรมดังกล่าว โดยโครงการได้คัดเลือกอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ จำนวน 10 หลัง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เพื่อทำการวิจัย และนำองค์ความรู้ที่ได้จากวิจัยมาจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่ไปยังนักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช.ภายใต้การสนับสนุนของโครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและการนำไปประยุกต์ใช้เป็นลำดับต่อไป

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

ความเป็นมา

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่ ตามสารบัญแก้ไข ทะเบียน ชื่อแรกคือ นายหมื่นแก้ว ณ เชียงใหม่ และตกทอดกรรมสิทธิ์ มายังตระกูลสุวรรณยืนจนถึงปัจจุบัน นายนิมิตร สุวรรณยืน ได้ให้ AUA (American University Alumni) เช่าสถานที่คุ้มแห่งนี้ เปิดเป็น โรงเรียนสอนภาษามากว่า 60 ปี โดยช่วงแรก AUA นั้นเป็นสมาคมที่ ขึ้นตรง USIS (United State Information Service) ซึ่งภายหลัง AUA ได้แยกตัวออกมาเนื่องจากสภาวะทางสงคราม

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เป็นอาคารทรงตะวันตกที่แสดงออกด้วยรูปทรงหลังคาเฉพาะตัวที่เรียกว่าหลังคาทรงแกมเบล (Gambrel Roof) เรียกแบบอย่างตามสถาปนิกผู้นิยมใช้ทรงหลังคานี้ในการออกแบบ มีส่วนบนเป็นจั่วลาดต่ำ และหักมุมลาดชันคลุมด้านข้างตัวอาคารเป็นแบบอย่างที่นิยมใช้ในประเทศฝรั่งเศส ตัวอาคาร 2 ชั้น ผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางแนวยาวขนานแนวถนน ไม่มีส่วนหน้าจั่วหันมาทางด้านหน้า ส่วนหน้าอาคาร เป็นมุขทางเข้ามีหลังคาลาดคลุม ฐานอาคารก่ออิฐส่วนอาคารทั้งสองชั้นและหลังคาเป็นไม้ทั้งหลัง

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

มีร่องรอยของความเสียหายที่เกิดจากแมลง และความเสื่อมของวัสดุที่ใช้งานมานาน เสา ตอม่อ และฐานราก ยังอยู่ในสภาพใช้ งานได้ดี สภาพอาคารโดยรวมมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง อาคารนอกจากจะมีเอกลักษณ์ทางรูปทรงอาคารแล้ว ภายในมีพื้นที่ข่วงกลางบ้านที่มีอาคารล้อมรอบเป็นที่นั่ง พักก่อน/หลังการทำกิจกรรม

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ตัวอาคารมีการใช้หลังคาทรงแกมเบล (Gambrel) ซึ่งนิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารประเภทโรงนาในอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นงานตกแต่งด้านรูปทรงที่สวยงาม ส่วนลวดลายประดับอื่นๆ พบเฉพาะบริเวณประตู หน้าต่าง ซึ่งมีการตีลูกฟักไม้ และบานเกล็ดไม้ตีนอน เหนือหน้าต่างประดับด้วยกระจก มีลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดประดับทุกช่อง มุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์หางว่าว

คุ้มเจ้าไชยสงคราม เจ้าสมพะมิตร ณ เชียงใหม่

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นอาคารที่ใช้วัสดุไม้ทั้งหลัง ยกเว้นช่วงที่ยกพื้นขึ้นจากผิวหน้าดินที่ใช้คอนกรีตและการก่ออิฐเปิดช่องระบาย อากาศ ใต้พื้นรูปทรงเน้นที่หลังคาผสมระหว่างแกมเบลและจั่ว มีชายคายื่นกันแสงแดดเป็นส่วนๆ อาคารนี้มีจุดที่น่าสนใจที่การก่อสร้างโครงหลังคาไม้ที่ซับซ้อน แบ่งระดับประกอบโครงเป็นสองระดับ ได้แก่ระดับโครงหลังคาบนส่วนจั่วสูงสุด และระดับโครงหลังคาส่วนแกมเบล ระดับชั้นสอง ซึ่งมีการจัดระเบียบการประกอบได้อย่างดี

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

ความเป็นมา

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) สร้างเสร็จปี พ.ศ. 2461 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ได้สมรสกับเจ้าหญิงเรณูวรรณา ณ เชียงใหม่ จนกระทั่งเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ได้สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2482 ท่านได้พำนักอยู่อาคารคุ้มแห่งนี้รวมทั้งหมด 20 ปี ต่อมามีการโอนกรรมสิทธิ์ และขายต่อคุ้มหลังนี้ให้กับ เจ้าวัฒนา โชตนา (ณ เชียงใหม่) ต่อจากนั้น กระทรวงการคลังซื้อที่ดินและอาคารคุ้ม เจ้าวัฒนา โชตนา (ณ เชียงใหม่) ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2496 และดำเนินการดูแล อนุรักษ์อาคารไว้จนถึงปัจจุบัน

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

รูปแบบสถาปัตยกรรม

สถาปัตยกรรมเป็นแบบอย่างที่แสดงอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมในอังกฤษช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 สมัยการปกครองของพระราชินีวิคตอเรีย (Queen Victoria : 1837–1901) ราวพ.ศ. 2350-2400 ที่มีลักษณะการออกแบบผสมผสานหลากหลายรูปแบบของสถาปัตยกรรมในอดีต (Eclectic Designs) โดยอาคารนี้เป็นการแสดงลักษณะเด่นของรูปแบบควีนแอน (Queen Anna : 1704-1712) ที่มีลักษณะแผนผังไม่สมมาตร และนิยม ยื่นมุขแบบไม่สมดุลกับผังที่เปิดเป็นระเบียงโล่ง

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

การอนุรักษ์อาคารครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2545 คือ หลังคาและโครงสร้างหลังคาบางส่วนที่ผุพังเสียหายจากการใช้งาน ได้คำนึงถึงวัสดุมุงเดิมและการใช้ดินขอแบบพื้นบ้าน การจัดทำสะระไน ป้านลม และส่วนประดับหลังคาอาคารใหม่โดยใช้วัสดุไม้สัก การอนุรักษ์อาคาร ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2549 ได้ทำการรื้อถอนส่วนต่อเติมที่เกิดขึ้นภายหลังออก มีการปรับเปลี่ยน ติดตั้ง ประตู หน้าต่าง ชิ้นส่วน ราวระเบียงไม้ ลายฉลุ หัวเม็ด การขัดลอกสี พื้นผิว และปรับสภาพให้มีความใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ตัวอาคารมีการตกแต่งหลังคา ด้วยลวดลายฉลุบริเวณปั้นลมหน้าจั่ว ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร พร้อมทั้งตีเกล็ดเป็นช่องระบายอากาศ นอกจากนั้นบริเวณสันของจั่วทั้งสองด้านรวมถึงบริเวณมุมของชายคา มีการตกแต่งด้วยไม้กลึงสะละไนแนวตั้ง บริเวณหน้าจั่วด้านหน้าอาคารมีไม้แกะสลักเป็นรูปตราสัญลักษณ์ประดับไว้บนพื้นไม้ที่กึ่งกลางของหน้าจั่ว ส่วนหน้าต่างประดับด้วยช่องระบายอากาศตีเกล็ดแนวนอน ส่วนด้านล่างของหน้าต่างชั้นบน ประดับด้วยลวดลายฉลุไม้โดยรอบของอาคาร

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นพื้นคอนกรีต ผนังก่ออิฐฉาบปูนสำหรับการรับน้ำหนักจากชั้นบน จึงเป็นผนังหนาคล้ายผนังวิหารหรือโบสถ์วัด ชั้นบนใช้ไม้ที่มีคุณภาพดีมีช่องแสงน้อย มีช่องลม เฉพาะ ที่เกล็ดไม้ประตูและช่องลมเหนือประตู โครงสร้างชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาเพื่อรับน้ำหนัก อาคารชั้นบน ชั้นบนเป็นพื้นไม้มีระเบียงโดยรอบ โครงสร้างชั้นบนและเครื่องบนเป็นไม้ เดิมใช้วัสดุ พื้นเมืองมุงหลังคา (ดินขอ) หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาคลุมอาคารและระเบียง

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

ความเป็นมา

เจ้าประพันธ์พงศ์อินเหลา ณ เชียงใหม่ ขณะดำรงตำแหน่ง เป็นนายอำเภอแม่ริม ได้คุ้มหลังนี้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2471-2472 ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2483-2484 ได้ให้เช่าอาคารเป็นที่ทำการสหกรณ์เชียงใหม่ และบ้านพัก ผู้พิพากษาศาลเชียงใหม่ โดยมีเรือนไม้ชั้นเดียวด้านหลังให้ นายหวลและนางคำน้อย ชัยมงคล และพี่น้อง 2 คน เช่าเพื่อพักอาศัย (ปัจจุบันรื้อเรือนไม้ชั้นเดียวไปแล้ว) เจ้าอินเหลานำอาคารและทึ่ดินไปจำนองไว้กับธนาคาร ต่อมานายหวลได้ซื้อต่อมาจากธนาคาร หลังสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ครอบครัวของนายหวลและนางคำน้อย ชัยมงคล จึงได้เข้าใช้พื้นที่ทั้งหมด ทั้งนี้ต่อมาคุณนวลศรีได้รับมรดกพื้นที่แห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เป็นแบบตะวันตกก่อฐานอาคารด้วยอิฐ ส่วนอาคารทั้งสองชั้น และหลังคาเป็นไม้ ผังอาคารแบบสมมาตร ซ้ายขวาจากทางเข้าด้านหน้าคล้ายรูปเครื่องบิน ตัวอักษรที (T)ในภาษาอังกฤษที่มีการยื่นมุขทางเข้าด้านหน้า เพิ่มออกมา โดยมีบันไดทางขึ้นชั้นสองอยู่ส่วนกลางด้านหลังบ้าน(อาคารหลัก) หลังคาโครงจั่วตัดกันแบบ ไม้กางเขน มีส่วนปลายแต่ละด้านเป็นทรงมะนิลา ยกเว้นหลังคาส่วนหลังบ้าน ส่วนอาคารด้านหลังเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางยาวต่อมาทางด้านหลัง

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

อาคารได้ปรับปรุงเมื่อปี พ.ศ. 2540 เดิมบ้านถูกยกใต้ถุนขึ้นมาเล็กน้อยประมาณ 50-60 เซนติเมตร ปัจจุบันถมดินขึ้นมาปิดใต้ถุน อาคารถูกปรับปรุงไปค่อยข้างมากให้เข้ากับความเป็นอยู่ของคนในบ้าน ประตูบางส่วนที่เป็นบานเปิด 2 บาน ถูกรื้อออกมาทำเป็นผนัง บานประตูและหน้าต่างบางส่วนถูกเปลี่ยนรูปแบบไปโดยการเสริมกระจกเข้าไป มีการต่อเติมอาคารรอบบ้าน เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียวเป็นพื้นที่ครัว ห้องน้ำ พื้นที่ซักรีดและห้องแม่บ้าน หลังคาเดิมเป็นหลังคาดินขอ มีการปรับปรุงหลังคาส่วนอาคารด้านหน้าและตรงกลาง ส่วนด้านหลังไม่ได้รื้อปรับปรุงแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้แผ่นเหล็กซ่อมบางส่วนมีมีการรั่วเท่านั้น

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ตัวบ้านมีการประดับด้วยลวดลายฉลุไม้ ในตำแหน่งโครงสร้างของอาคารหลายจุด ได้แก่ บริเวณเชิงชายของหลังคากันสาด เชิงชาย และบริเวณไม้ประดับคานชั้นสอง รวมถึงมีแผงไม้และลวดลายประดับกรอบประตูภายในอาคาร นอกจากนั้นส่วนของผนังเรือนชั้นบนตกแต่งด้วยไม้ทาสีขาว ประดับเป็นลวดลายกากบาท วงกลม และลายไม้ตีตั้งที่ผนังบางส่วน สำหรับหน้าต่างและช่องแสงทำเป็นแป้นเกล็ดไม้ตีนอน มีการประดับด้วยกระจกเหนือหน้าต่างบางส่วน

คุ้มเจ้าประพันธ์พงศ์ อินเหลา ณ เชียงใหม่

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นอาคารโครงสร้างไม้ทั้งหลัง ผนังเกล็ดไม้ระบายอากาศสามารถปรับได้ ฐานและพื้นชั้นล่างใช้คอนกรีตและฉาบปูน มีการใช้ไม้ผสมกันระหว่างไม้ขนาดใหญ่สำหรับโครงสร้างหลัก และไม้ขนาดเล็กสำหรับโครงสร้าง รองลงมา โครงสร้างหลังคาทรงปั้นหยา ผสมจั่ว พบว่ามีการจัดวางไม้โครงสร้างอย่างเป็นระบบมีการค้ำยัน ตามหลักทฤษฎีตะวันตก ทั้งในแกนราบและแกนดิ่ง ซึ่งพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

ความเป็นมา

คุ้มเจ้ายอดเรือน เป็นคุ้มซึ่งเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ได้สร้างขึ้นให้แก่เจ้ายอดเรือนเมื่อปี พ.ศ.2470โดยที่ขณะนั้นเจ้ายอดเรือนอาศัยอยู่ที่คุ้มหลวง บ้านหลังนี้จึงใช้เป็นบ้านเช่าให้แก่ผู้พิพากษาจังหวัดลำพูน เมื่อเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.2486 เจ้ายอดเรือนจึงได้ย้ายออกจากคุ้มหลวงไปอาศัยอยู่ที่คุ้มเจ้ายอดเรือน กับหลานสาว 7 คน จนกระทั่งประมาณ ปี พ.ศ.2536 หลานสาวคนสุดท้ายจำเป็น ต้องย้ายออกไป จึงปิดบ้านไว้และมาดูแลเสมอทุกปี มีการจัดทำบุญ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ และ เจ้ายอดเรือนและบรรพบุรุษทุกท่านตลอดมา ปัจจุบันคุ้มเจ้ายอดเรือนได้รับการดูแลโดย นายบุญมี ไชยยันต์ และ นางราศรี ไชยยันต์ บุตรีคนที่ 5 ของเจ้าอินทนนท์ ณ ลำพูน และครอบครองกรรมสิทธิ์โดยนางกาญจนา มหาแสน บุตรีคนที่ 7 ของเจ้าอินทนนท์ ณ ลำพูน

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

รูปแบบสถาปัตยกรรม

รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นประยุกต์ ด้วยลักษณะการยกใต้ถุนให้ตัวอาคารลอยเหนือพื้น และเชื่อมพื้นที่อาคารทั้งสองหลังด้วยชานโล่ง มีบันไดที่ขึ้นสู่อาคารทั้งด้านหน้าและหลังอยู่ภายนอกตัวอาคาร โดยบันไดหน้าบ้านจะมีหลังคาคลุม แต่รูปแบบการวางอาคารแนวยาวขนานทางสัญจรและไม่หันหน้าจั่วไปทางด้านหน้าอาคาร (ตามทิศทางการขึ้นของบันไดหลัก)ที่ไม่เป็นแบบแผนของอาคารพื้นถิ่นทั่วไป

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ลักษณะสถาปัตยกรรมของคุ้มเจ้ายอดเรือน นับเป็นเรือนพักอาศัยที่มีสภาพดีมาก มีความเก่าแก่และรักษาสภาพเดิมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เรือนไม้จริงทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูงประมาณ 2.00 เมตร โปร่งโล่ง ตลอด ฐานรากและเสาด้านล่างเป็นคอนกรีต เสาด้านล่างฉาบด้วยซีเมนต์ ด้วยเทคนิควิธีการชั้นสูงในสมัย 75 ปีที่แล้ว ซี่งทำให้ในปัจจุบันเสาและฐานรากด้านล่างยังแข็งแรงอย่างยิ่ง เรือนชั้นบนทำด้วยไม้เนื้อแข็งโดยมากเป็นไม้สักมีความประณีตละเอียดในการทำโครงสร้าง มีการต่อเติมอาคารในช่วงพ.ศ. 2512 โดยสร้างห้องน้ำและห้องเตรียมอาหาร ห้องครัว และต่อเติมใต้ถุนชั้นล่างเป็นห้องเขียนแบบ

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

เรือนมีการตกแต่งบริเวณชายคาและสันจั่วด้วยไม้กลึงเรียกว่า สะละไน นอกจากนั้นบริเวณราวระเบียงจะประดับด้วยไม้ฉลุลาย เป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา ช่องระบายอากาศเหนือผนังเรือนโดยรอบ มีไม้ระแนงตีตั้ง ประดับด้วยไม้สลับลาย

คุ้มเจ้ายอดเรือน ลำพูน

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นเรือนที่มีใช้โครงสร้างเสาก่ออิฐฉาบปูนยกใต้ถุนสูง ชั้นบนใช้ไม้เป็นโครงสร้างทั้งหมด ลักษณะคล้ายกับ คุ้มเจ้าราชสัมพันธวงษ์ สังเกตจากช่วงเสาที่ระยะห่างไม่มาก ทำให้มีจำนวนเสารับน้ำหนักจำนวนมาก พื้นใต้ถุนเป็นโครงสร้างคอนกรีตคงทนแข็งแรง วัสดุไม้ที่ใช้เป็นไม้แปรรูปจากฝีมือช่างไม้ มิใช่จากเครื่องจักร จุดเด่นของเรือนนี้คือการมีระบบเข้าไม้ที่ยังคงภูมิปัญญาช่างท้องถิ่นไว้มาก

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

ความเป็นมา

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2455 ในสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 (พ.ศ.2454-2486) เป็นเรือนพักอาศัยของเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์กับเจ้าหญิงส่องหล้า สัมพันธ์วงษ์ และบุตรธิดา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2488) กลุ่มพ่อค้าชาวจีนในลำพูน ได้รวบรวมเงินกัน เพื่อซื้อที่ดินและตัวอาคารจากบุตรธิดาของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ และได้เปิดเป็นโรงเรียนชื่อ โรงเรียนหวุ่งเจิ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็๋นโรงเรียนมงคลวิทยา ปี พ.ศ. 2529 โรงเรียน ได้ย้ายไปทำการเปิดสอนยังโรงเรียนแห่งใหม่ ทำให้ตัวอาคารถูกทิ้งให้รกร้าง กระทั่งได้มีนักธุรกิจได้มาขอเช่าอาคารเปิดเป็นร้านอาหารชื่อ คุ้มต้นแก้ว ก่อนที่จะปิดกิจการไปใน และสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท ลำพูน ได้มาขอเช่าพื้นที่ เป็นสถานที่จัด รายการวิทยุจนกระทั่งหมด สัญญาลงในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ปัจจุบันเทศบาลได้เข้ามาดูแลและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

รูปแบบสถาปัตยกรรม

ลักษณะของตัวอาคารเป็นเรือนสะระไนขนาดใหญ่ 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนชั้นบนประกอบด้วยไม้สัก หลังคาจั่วผสมปั้นหยาแบบผสมผสานอิทธิพลตะวันตกในแบบแผนของผังตัวยู เปิดล้อมพื้นที่ว่างส่วนหน้าด้านหน้า(ซึ่งไม่พบในแบบแผนของอาคารพื้นถิ่นมาก่อน) โดยมีทางเข้าสู่อาคารในส่วนขวางของอาคาร จุดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะคือ พื้นที่ส่วนมุขชั้นสองที่เป็นระเบียงเปิดโล่งพร้อมแผงกันแดดลายฉลุโดยรอบ ลดระดับพื้นที่ลงจากส่วนอาคารขวางด้านหลัง ทรงหลังคาเน้นส่วนจั่วที่มุขยื่นทั้งสองในรูปด้านหน้าของอาคาร

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

เสา ตอม่อ และฐานรากอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เป็นอย่างดี ไม่มีการแตกร้าวของผนังหรือข้อบ่งชี้ถึงการทรุดตัวของอาคาร แต่ควรมีมาตรการแก้ไขความชื้นจากพื้นดิน เนื่องจากอาคารถูกปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ทัศนียภาพโดยรอบจึงมีความโปร่งเพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ไป ราว 20 ปีที่แล้ว และยังได้รับการดูแล ทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้อาคารอยู่ในสภาพดี แล้วยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ได้ ถึงแม้จะมีการปรับปรุงซ่อมแซมไปก็ตาม

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

มีการประดับลวดลายตกแต่งอาคารบริเวณสันจั่วของอาคารและมุมชายคา โดยทำเป็นไม้กลึง แบบสะละไน ส่วนระเบียงชั้นสองของอาคารจะประดับด้วยไม้ระแนงตีไขว้ตลอดแนว ซึ่งลักษณะลวดลายเป็นแบบเดียวกับ ช่องลมที่อยู่ภายในอาคารชั้นบน เป็นระแนงไม้ตีไขว้ในช่องสี่เหลี่ยมเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ ส่วนด้านล่าง มีการใช้ราวระเบียงปูนหล่อด้านหน้าอาคาร เป็นคอนกรีตหล่อเจาะเป็นช่องระบายอากาศทั้งสองด้าน ส่วนผนังด้านล่าง ก่ออิฐฉาบปูนมีการประดับบัวหัวเสาทุกต้น

คุ้มเจ้าราชสัมพันธ์วงษ์ ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่)

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นเรือนครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐเป็นเสาและผนังรับน้ำหนักจากระบบโครงสร้างไม้ชั้นบนและหลังคา ช่วงเสาถี่ระยะระหว่างเสาไม่กว้าง แสดงให้เห็นว่ายังมีระบบการก่อสร้างแบบล้านนาผสมอยู่บ้าง แต่ระบบหลังคาเป็นปั้นหยาผสมจั่ว มีช่วงพาดโครงหลังคายาวสองช่วงเสาและมีชายคายื่นไม่มากเนื่องจาก ใช้ไม้โครงหลังคาขนาดเล็กทั้งหมด แสดงความเหมาะสมของการใช้วัสดุไม้กับระยะและรูปทรงของอาคาร ระยะความสูงระหว่างพื้นชั้นบนถึงเพดานระดับฝ้าเพดานโปร่งโล่ง ทำให้มีแสงผ่านเข้ามามาก จึงติดตั้งระแนงไม้เป็นแผงกันแดดหลายส่วนและยังสามารถรับลมเพื่อระบายอากาศได้เป็นอย่างดี

บ้านเทพมณี ลำพูน

บ้านเทพมณี ลำพูน

ความเป็นมา

สันนิษฐานว่าอายุอาคารราว 120 ปี เจ้าของบ้านคนแรกคือ อุ้ยขาว โดยผู้ที่สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา คือ นายผดุง เทพมณี (ลูกของอุ้ยขาว) ซึ่งมีความชำนาญในเชิงช่าง ตระกูลของอุ้ยขาวประกอบกิจการค้าทอง เป็นตระกูลที่ค่อนข้างใหญ่และมีฐานะ โดยลูกหลานของตระกูลอุ้ยขาวได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ทั้งสิ้น 3 รุ่น ต่อมาในประมาณปี พ.ศ. 2528 จึงได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับยายเขียวและคุณเกียง ตันวัฒนากูล ซึ่งเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์บ้านหลังนี้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ยายเขียวและคุณเกียงไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ โดยให้ YMCA เข้ามาเช่าพื้นที่เปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษามาจนถึงปัจจุบัน

บ้านเทพมณี ลำพูน

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เป็นแบบพื้นถิ่นประยุกต์ ลักษณะเป็นอาคารยกใต้ถุนสูง(เสาส่วนใต้ถุนเป็นปูนรับส่วนบนเป็นไม้) มีผังหักมุมแบบตัวแอล (L)ยาวไปด้านหลัง เชื่อมกับอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนหลังด้วยชานโล่งลดระดับ บันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้านอกตัวอาคารสู่ชาน และห้องโถงส่วนหน้า หลังคาทั้งหมดทรงมะนิลาวางตาม ผังพื้น มีหลังคามุขยื่นคลุมพื้นที่ส่วนชานหน้าลดระดับต่อเนื่องด้วยหลังคาลาด และมีหลังคาทรงมะนิลาขวางคลุมพื้นที่ทั้งบันไดหน้า

บ้านเทพมณี ลำพูน

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ช่องเปิดประตู และหน้าต่างโดยรอบอาคารชั้นบนเป็นแบบเรียบง่าย บานเปิดทึบไม่มีลวดลายการตกแต่งมากนัก ใช้ช่องระแนงไม้ด้านบนประตู ช่วยในการระบายอากาศ บันไดอาคารยังอยู่ในสภาพดี เพราะมีการใช้งานและดูแลเป็นประจำ วัสดุหลังคาถูกเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ แต่เดิมเป็นกระเบื้องดินขอ แต่เนื่องด้วยการเสื่อม สภาพของวัสดุ ทำให้เกิดการรั่วของหลังคา จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุมุงใหม่ โครงสร้างหลังคาเป็นลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมีไม้ค้ำยันคงสภาพแข็งแรงดี

บ้านเทพมณี ลำพูน

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ตัวอาคารมีการประดับตกแต่งบริเวณ สันจั่วของหลังคา และหัวมุมของเชิงชาย ด้วยไม้กลึง แบบสะละไน ส่วนหลังคาคลุมบันไดมีกันสาดประดับด้วยไม้ระแนงตีตั้งเป็นแผง โดยส่วนล่างของแผงไม้ระแนงดังกล่าวจะออกแบบเป็นรูปซิกแซก มีหน้าต่างประดับด้วยซี่ลูกกรงเหล็กตีตั้งมีคร่าวไม้ตรงกลางแบบนิยมร่วมสมัย ด้านล่างมีการใช้เสาปูนมีการก่อด้วยบัวหัวเสาทุกต้น

บ้านเทพมณี ลำพูน

โครงสร้างและวัสดุ

บ้านเทพมณีเป็นเรือนไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง พื้นคอนกรีต เสาคอนกรีตชั้นล่างบางส่วนเป็นเสาไม้ และหล่อคอนกรีตรอบฐานเสาต่างจากเรือนลักษณะตะวันตกหลังอื่นๆ ระยะห่างระหว่างช่วงเสาไม่มาก โครงสร้างพื้นชั้นบนเป็นระบบคานและตงพาดบนหัวเสา โดยวางแผ่นไม้ไว้ปลายเสารองรับคานไว้ ชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ตั้งแต่ชั้นบนกระทั่งโครงหลังคารูปทรงจั่วผสมปั้นหยาเป็นไม้ขนาดไม่ใหญ่ ใช้ระบบช่วยกันรับน้ำหนัก ซึ่งสามารถสังเกตได้จากขนาดและระยะจันทันช่วงพาดโครงหลังคาประมาณ 5 เมตร ใช้ระบบโครงถัก

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

ความเป็นมา

บ้านพรหมเศรณี เป็นบ้านต้นตระกูลของคุณยายเหรียญ พรหมเศรณี และคุณปู่พระวิเชียรโกษา ซึ่งเป็นข้าราชการย้ายมาจากสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สมัยเจ้าหลวงบุญวาทย์ ทั้งนี้สันนิษฐานว่าอาคารมีอายุราว 80 ปี

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เป็นแบบผสมผสานอิทธิพลตะวันตก อาคารไม้ทั้งหลังยกใต้ถุนสูง อาคารส่วนหน้าผังพื้นเกือบจัตุรัส (แต่แบ่งช่วงเสา และห้องเสาไม่เท่ากัน) เชื่อมต่อกับอาคารส่วนหลังด้วยชานโล่ง ส่วนหน้าเป็นมุขโถงโล่ง (ไม่มีผนัง) คลุมด้วยหลังคาทรงมะนิลาที่มีส่วนยอดจั่วลาดมาด้านหน้าโดยยื่นจากหลังคาหลักทรงปั้นหยา คลุมอาคาร ส่วนระเบียงขนาบมุขเป็นหลังคาลาดมาจากชายคาหลักมาทางด้านหน้าคลุมพื้นที่ ด้านขวาเป็นบันไดภายนอกอาคาร ส่วนหลังคาด้านหลังเป็นหลังคาจั่ววางขวางหน้าจั่วมีชายคาปีกนก

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

พื้นอาคารมีร่องรอยความเสียหายจากน้ำท่วม แต่มีการซ่อมแซมและใช้งานอย่างต่อเนื่อง เสาตอม่อ และฐานรากคาดว่ายังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ไม่มีการทรุดเอียง ส่วนเรือนด้านหลังมีสภาพชำรุดเนื่องจากการทรุด และเสื่อมสภาพของเสาไม้ ส่วนที่เป็นจุดเด่นของอาคารควรแก่การอนุรักษ์ คือลวดลายตกแต่งแผงกันแดดด้านหน้า เป็นลายฉลุไม้ขนาด 60x15 ซม. ด้านบนและ 120x15 ซม. ด้านล่างยาวตลอดช่วงเสา แต่เพราะโครงสร้างไม่แข็งแรง ทำให้เกิดอาการ ที่เรียกว่า “ตกท้องช้าง” คือการแอ่นโค้งลงมา

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

จุดเด่นของอาคารอยู่ที่แผงกันแดดด้านหน้าของอาคาร ซึ่งมีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายฉลุไม้ แผงกันแดดดังกล่าวทำเป็นแผงไม้ตีตั้งต่อกันเป็นแนวบริเวณระเบียงด้านหน้าของอาคาร ตัวลวดลายฉลุเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาขนาดเล็ก เพื่อป้องกันแสงแดดช่วงบ่าย โดยที่อากาศยังสามารถระบายผ่านไปได้

บ้านพรหมเศรณี ลำปาง

โครงสร้างและวัสดุ

ลักษณะเป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐมอญหุ้มรอบเสาไม้ ระบบช่วงเสามีระยะห่างปานกลาง ทำให้เสา มีขนาดใหญ่ เจ้าของปรับปรุงใต้ถุนเดิม ใช้การก่ออิฐมอญผนังชั้นล่างเพื่อใช้พักอาศัย หลังคาเป็นทรงปั้นหยา กว้างตกแต่งจั่วที่ช่วงบนสุดของหลังคา หลังคาส่วนระเบียงชั้นบนลดระดับลงมา ใช้กระเบื้องว่าวมุงหลังคาแสดงอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก พื้นที่ด้านล่างแบ่งเป็นหลายห้อง จึงทำให้หลังคามีความกว้าง เป็นระยะทางยาว เมื่อสังเกตช่องโครงสร้างหลังคาพบว่าขนาดไม้มีขนาดใหญ่และติดตั้งได้อย่างเป็นระเบียบ แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อสร้างนำความรู้ด้านโครงสร้างจากสถาปัตยกรรมตะวันตกมาใช้ และที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือความสมมาตรของชิ้นส่วน และการค้ำยันเพื่อความแข็งแรง

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

ความเป็นมา

ต้นตระกูลของผู้สร้างบ้านคือ ยายพิมและยายทองคำ แต่เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก ยายทองคำมีบุตรสองคน คือ คุณทองพับและคุณทองเพียร สุวรรณนิชกุล โดยคุณทองพับได้สมรสกับนายดุสิต พานิชพัฒน์ (อดีตอธิบดีกรมป่าไม้) มีบุตรชายคือนายวันชัย พานิชพัฒน์ สันนิษฐานว่าอายุอาคารราว 80 ปี

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

รูปแบบสถาปัตยกรรม

เป็นแบบผสมผสานอิทธิพลตะวันตก สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เป็นอาคารยกใต้ถุนสูง อาคารด้านหน้า ผังพื้นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส บันไดทางขึ้นอยู่นอกอาคาร (มีหลังคาคลุมต่อเติม) ส่วนหน้าเป็นโถงกลางยาว เข้าสู่ส่วนกลางอาคารกระจายสู่พื้นที่ใช้สอยต่างๆ หลังคาคลุม พื้นที่ส่วนใช้สอยด้านเดียวกับบันได เป็นทรงมะนิลา ส่วนปลายอีกด้านทรงปั้นหยารับส่วนยื่นมุขหน้าส่วนข้าง(ตรงข้ามบันได)ทรงจั่วหัวตัด ส่วนหลังเป็นชานลดระดับเชื่อมอาคาร ส่วนหลังในผังพื้นรูปผืนผ้ายาวหลังคาจั่ว และเป็นชานเชื่อมต่อไป ยังยุ้งข้าวเดิม

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

อาคารและพื้นที่โดยรอบมีร่องรอยความเสียหายจากความชื้น และวัสดุที่มีการใช้งานมายาวนาน เสาตอม่อ ฐานราก สันนิษฐานว่าอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี บริเวณที่ตั้งมีการปรับเปลี่ยนการใช้งานไปจากเดิมค่อนข้างมาก มีการกั้นพื้นที่เป็นส่วน ๆ ใช้พื้นที่ใต้ถุนในการจอดรถ แต่อาคารยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนการประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงาม ได้แก่ ลายฉลุไม้บริเวณช่องเปิดด้านล่างของห้องโถงรับแขกที่มีหน้าต่างฝาไหลปิดไว้ อาคารหลังนี้มีสัดส่วนความสูงของผนังชั้นบนมากกว่าปกติ โดยภายนอกกรอบอาคารเป็นช่องบานเกล็ดไม้ระบายอากาศแบบเรียบง่าย ทำให้อาคารโปร่งเบาและลอยตัว มีการจัดวางราวระเบียงไม้เป็นแบบระแนงแนวตั้ง และรอบอาคารมีการติดตั้งลูกกรงเหล็ก เพื่อป้องกันความปลอดภัยของทรัพย์สินซึ่งถูกติดตั้งไว้ตั้งแต่สร้างอาคารครั้งแรก

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

มีการประดับอาคารโดยใช้ลวดลายฉลุบนแผงไม้ตีตั้งทาสีขาวซึ่งอยู่ด้านในของหน้าต่างบานเปิดทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ เหนือหน้าต่างนี้ขึ้นไป มีหน้าต่างอีกชั้นหนึ่ง ด้านในประดับด้วย เหล็กดัดลวดลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหล็กดัดยุคแรกๆ ของภาคเหนือ เหนือหน้าต่างทำเป็นช่องแสงประดับด้วยกระจกสีตกแต่งสลับด้วยสีเหลืองฟ้า ตลอดแนว บริเวณจั่วของอาคาร ประดับด้วยช่องระบายอากาศในกรอบรูปวงกลม มีบานเกล็ดติดตายตีนอน นอกจากนั้นยังมีการใช้เหล็กดัดตีตั้ง บริเวณช่องเปิดบางส่วน รวมถึงหน้าต่างของห้องอื่นๆ โดยรอบอาคาร

บ้านพานิชพัฒน์ ลำปาง

โครงสร้างและวัสดุ

ใช้วัสดุโครงสร้างทั้งหมดเป็นไม้ ตั้งแต่เสาชั้นล่างจนถึงโครงสร้างหลังคา ลักษณะช่วงเสาใกล้กัน นับจำนวนเสาได้หลายช่วงจากหน้าเรือนไปยังหลังเรือน ระบบคานไม้และตงไม้รับน้ำหนัก พื้นชั้นบนยึดค่อนข้างถี่ ทำให้มีความแข็งแรงรับน้ำหนักบรรทุกได้ดี รูปทรงหลังคาเป็นจั่วผสมปั้นหยาประยุกต์จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ลักษณะโครงสร้างไม้ของหลังคามีความซับซ้อนไม่มากโดยมีระบบขื่อและดั้งจัดวางตามแนวช่วงเสา นอกเหนือนั้นระบบการก่อสร้างจากการ ออกแบบช่องเปิดที่เน้นการระบายอากาศด้วยลมธรรมชาติ ใช้ที่มีช่องลมทุกระดับของผนังภายนอกเรือนเป็นการแสดงถึงความเข้าใจของช่างในสมัยนั้นกับเทคนิคแบบตะวันตก

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

ความเป็นมา

เจ้าของเดิมได้สร้างบ้านหลังนี้ไว้ในราวปี พ.ศ. 2460 หลังจากบ้านหลังนี้สร้างเสร็จไม่นานได้ขายต่อให้กับ นายกิมฮ้อหรือนายกระสินธุ์ โรจนศักดิ์ ซึ่งทำงานกับบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า (บริษัททำสัมปทานค้าไม้ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย) หลังจากสัมปทานป่าไม้ของบริษัทต่าง ๆ หมดสัญญาลง เนี่องจากได้รับผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกระสินธุ์จึงได้หันมาทำธุรกิจโรงบ่มใบยาแทน และต่อมานายเกษม โรจนศักดิ์ (บุตรชาย) เข้ามาร่วมดูแลกิจการอยู่พักหนึ่ง ภายหลังบ้านหลังนี้ไม่มีผู้พักอาศัยเนื่องจากบุตรหลานส่วนใหญ่ไปทำงานหรือศึกษาต่อต่างจังหวัดและต่างประเทศ แต่ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการดูแลจากคุณเกศินี โรจนศักดิ์

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

รูปแบบสถาปัตยกรรม

มีโครงสร้างลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นเดิม เช่น การยกใต้ถุนสูง มีการเชื่อมพื้นที่ด้วยชานโล่ง การจัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้ต่างระดับกัน แต่มีการผสมผสานรูปทรงหลังคาสมัยใหม่คลุมพื้นที่ โดยสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานอิทธิพลตะวันตก คือ มีลักษณะค่อนข้างปิดล้อมพื้นที่ใช้งาน จัดวางหลากหลายรูปแบบนิยมคลุมพื้นที่อาคารด้วยหลังคาทรงปั้นหยาโดยมีองค์ประกอบพื้นถิ่นบางอย่างเหลืออยู่

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

อาคารและพื้นที่โดยรอบมีร่องรอยที่เกิดความเสียหาย อันเกิดจากน้ำท่วม แต่ในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร เดิมเป็นเสาไม้และมีการโย้เอียงของอาคาร ได้มีการยกบ้านและเปลี่ยนฐานรากตอม่อและเสาใต้ถุนให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำให้ปัจจุบันมีความแข็งแรงอย่างมาก ส่วนตกแต่งอาคาร ไม่มีร่องรอยการฉลุลาย แต่อย่างใด ใช้การเจาะช่องระบายอากาศโดยใช้วัสดุกระจกขุ่นสีเป็นลวดลายแทน ราวระเบียงไม้ เป็นแบบแนวตั้งและมีความเรียบง่าย

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

จุดเด่นของการตกแต่งอาคารหลังนี้ได้แก่ ลักษณะของประตูหน้าต่าง ซึ่งทำเป็นแบบบานกระทุ้งตีเกล็ดไม้แนวนอน มีอุปกรณ์และกลไกในการล็อคพิเศษหล่อด้วยโลหะและทองเหลืองทั้งหมด บริเวณราวระเบียงมีไม้ระแนงตีตั้งชุดเดียวกับราวบันได ซึ่งมีการประดับหัวเสาไม้ บริเวณระเบียง มีแผงไม้ระแนงตีทแยงใต้ชายคา นอกจากนี้ยังมีช่องแสงเหนือประตูหน้าต่าง ประดับด้วยกระจกสีเขียวและเหลืองสลับลาย โดยรอบอาคาร

บ้านโรจนศักดิ์ ลำปาง

โครงสร้างและวัสดุ

เป็นเรือนสองชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ลักษณะวัสดุโครงสร้างอาคาร เป็นระบบเสาและคาน เห็นได้จากเสาคอนกรีต ขนาด 0.20 x 0.20 เมตร ที่มีระยะช่วงเสาค่อนข้างห่าง สันนิษฐานว่าเสาเดิมเป็นไม้ ใช้คานไม้ขนาดปานกลาง ระบบรับน้ำหนักพื้นชั้นสอง เป็นตงไม้ขนาดใหญ่กว่าขนาดตงไม้ของเรือนพื้นถิ่นโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นช่วงพาดไม้ตงที่ยาว โดยเสาไม้ชั้นบนไม่ตรง กับแนวเสาชั้นล่าง จึงต้องใช้ระบบคานถ่ายน้ำหนักจากเสาไม้ลงสู่เสาคอนกรีต วัสดุโครงสร้างส่วนหลังคาเป็นไม้ทั้งหมด รูปทรงหลังคาเป็นทรงปั้นหยาซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกได้ชัดเจน วัสดุมุงเป็นกระเบื้องว่าวคอนกรีต สันนิษฐานว่าเปลี่ยนมาแล้วแต่ยังคงลักษณะเดิมไว้

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

ความเป็นมา

หลุยส์ โทมัส กุนนิส เลียวโนเวนส์ บุตรชายของ นางแอนนา แฮเรียท เลียวโนเวนส์ นายหลุยส์ได้เข้าทำงานกับ บริษัท บอร์เนียวในปี พ.ศ. 2427 และได้ลาออกจากบริษัทบอร์เนียวในปี พ.ศ. 2429 โดยนายหลุยส์ ได้ร่วมกับบริษัท บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง ในการจัดการสัมปทานไม้สัก ก่อนที่จะร่วมกับหุ้นส่วนชาวอเมริกันจัดตั้งบริษัทของตนเองขึ้นในปี พ.ศ. 2432 และได้เปิดบริษัทเป็นของตนในวันที่ 3 มีนาคม ปี พ.ศ. 2448 ชื่อ บริษัท หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เมืองลำปาง ทั้งนี้สันนิษฐานว่าอาคารอายุราว 120 ปี

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

รูปแบบสถาปัตยกรรม

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นอาคารสองชั้นครึ่งอิฐครึ่งไม้ ผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางยาวตามเส้นทางเข้าพื้นที่ ส่วนหน้าอาคารอยู่ทางด้านยาวมีการยื่นมุขจากชั้นสองเป็นโถงหน้าบนผัง หลายเหลี่ยม และมีบันไดขึ้นจากชั้นล่าง ขึ้นมาได้และเชื่อมกับระเบียงรอบอาคารทั้งสองชั้น โดยโถง และระเบียงชั้นสองมีการใช้แผงบานเกล็ดไม้ต่อเนื่องจากขอบราวระเบียงถึงระดับฝ้าเพื่อกรองแสงโดยรอบ อาคารมีการต่อเติมขยายพื้นที่ต่อไปตามแนวยาวส่วนหลัง รูปทรงหลังคาคลุมพื้นที่ อาคารเกือบทั้งหมดด้วย ทรงปั้นหยา โดยส่วนของมุขหน้าเป็นทรงหลายเหลี่ยม

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า อาคารหลังนี้ปรากฏหลักฐานร่องรอยการก่อสร้างอาคารสองครั้งที่ทิ้งระยะห่างกันราวกว่า 10 ปี การต่อเติมอาคารหลังนี้ในครั้งที่สองเป็นอาคารไม้สองชั้นสร้างเชื่อมกับอาคารก่ออิฐฉาบปูนหลังเดิมติดชิดไปทางทิศตะวันออก การต่อเติม อาจเกิดจากการต้องการเสริมเพิ่มพื้นที่ในการทำงานและการพักอาศัย กล่าวคือในชั้นล่าง และชั้นบนมีความกว้างราว 8.00 X 8.00 เมตร แบ่งเป็นห้องโถง และห้องย่อย ชั้นล่าง ทำหลังคาคลุมทางเดินโดยรอบ ด้านหลังอาคารมีบันใดขึ้นอาคารสองชุด โดยบันไดชุดแรกอยู่ภายในอาคารติดกำแพงรับน้ำหนักซึ่งอยู่ในสภาพใช้การได้ บันไดชุดที่สองและชานมีความเสียหายที่รุนแรงผุพัง เสาคานหลุดออกจากตำแหน่ง ไม่สามารถใช้การได้

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

ลวดลายและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม

ทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีการตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายและปูนปั้น สำหรับปูนปั้นจะตกแต่งบริเวณเหนือประตูหน้าต่างชั้นล่างของอาคารโดยทำเป็นปูนปั้นรูปวงโค้ง ส่วนลายฉลุไม้จะประดับเหนือประตูชั้นบนและชั้นล่างบางบาน สำหรับลวดลายฉลุไม้จะออกแบบให้เป็นพันธุ์พฤกษาที่งดงาม ทำหน้าที่เป็นช่องระบายอากาศ ส่วนบริเวณระเบียงโถงด้านหน้าของอาคาร จะออกแบบผังให้เป็นรูปแบบเหลี่ยม มีการใช้ไม้ตีบริเวณฝ้าเพดานทำให้เกิดจังหวะของลวดลายที่งดงาม หน้าต่างของห้องโถงด้านหน้านี้เป็นบานกระทุ้ง ตัวบานและช่องระบายอากาศด้านล่างและด้านบนของหน้าต่าง จะตีด้วยแป้นเกล็ดไม้ตีนอนโดยรอบ นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบอาคารยังมีลวดลายไม้ฉลุบริเวณเชิงชายของหลังคาโดยรอบ

บ้านหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ลำปาง

โครงสร้างและวัสดุ

อาคารเป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ขนาดใหญ่ ที่มีรูปแบบตะวันตกอย่างชัดเจน พื้นชั้นล่าง ทำด้วยคอนกรีตด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาใน ประเทศระยะแรกปริมาณปูนซีเมนต์ไม่มากนัก ผนังชั้นล่างบริเวณห้องโถง เป็นการก่ออิฐฉาบ ปูนหนาทำหน้าที่รับน้ำหนัก ชั้นบนด้วย ตัวเรือน รอบนอกใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมดด้วย วิธีการก่อสร้าง ที่ใช้ช่างที่ชำนาญงาน ระบบพื้นชั้นบนที่เห็นได้จากเพดาน ชั้นล่าง ใช้ไม้คานขนาดใหญ่ ขนาด ประมาณหน้ากว้าง 10 นิ้ว ลึก 18 นิ้ว เป็นคานช่วงพาดยาวประมาณ 6 เมตร มีการเสริมความแข็งแรงของการรับน้ำหนักโครงสร้างตงไม้ด้วยค้ำยันตงที่น่าสนใจและสวยงาม